top of page
Search

Restaurateurs Sans Frontières


Restaurateurs Sans Frontières กับการบูรณะศิลปะที่ไร้พรหมแดนทั้งจิตรกรรม ปราสาท วัด พระราชวัง ทั่วโลก จากทีมงานผู้ชำนาญการ ที่เปี่ยมด้วยความประณีตบนพื้นฐานการเชื่อมโยงศิลปะกับหลักวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน ใครหลายๆคนที่รักศิลปะแต่อาจจะไม่เคยรู้จักRestaurateurs Sans Frontièresมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งมาแล้วเกือบยี่สิบห้าปีในประเทศไทยองกรณ์นี้ประกอบไปด้วยทีมงานในสตูดิโอราว 20 คน ที่เปี่ยมไปด้วยทีมงานชำนาญการในการบูรณะศิลปะรูปแบบต่างๆซึ่งมีผลงานอันยิ่งใหญ่ทั่วโลก ทั้งการบูรณะจิตกรรม ประติมากรรม ไปจนถึงวัดและ พระมหาราชวัง อีกหลายๆแห่งในโลกนี้ เช่น Pharaonique Amada ประเทศอียิปต์, Église du XVIIe siècle ประเทศฝรั่งเศส, ปราสาทบากอง เสียมราฐ (Wat Bakong Siem Reap) ประเทศกัมพูชา, Chine Lingjiang และ Chine Lugu Lak ประเทศจีน และวัดที่ จ.นครราชสีมา

ไม่ใช่เพียงเท่านี้ RSF ยังมีประสบการณ์การซ่อมบูรณะพระราชวังอีกหลายแห่งในประเทศไทย โดยเริ่มที่พระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิตเป็นที่แรก รวมถึงภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนถึงพระที่นั่งวิมานเมฆ ในพระราชวังดุสิต ที่เพิ่งบูรณะสำเร็จไปอีกแห่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงทำให้เป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของผู้แวะเวียนเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ออกสื่อมากนัก แต่กลับได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้คนที่รักศิลปะและนักสะสมในวงการมาโดยตลอด รวมถึงการสนับสนุนพื้นที่ตั้งสตูดิโอ RSF Art Clinic แห่งนี้จาก Jim Tomson Art Center ก็เช่นกัน

แต่จุดกำเนิดเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เรามีโอกาสได้ไปพูดคุยกับบุคคลสำคัญท่านนี้ถึงสตูดิโอทำงาน


คุณโรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก (Mr. Robert Bougrain Dubourg) ชาวฝรั่งเศส ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรด้านการอนุรักษ์ภาพจิตกรรมที่ École des Beaux Arts d’Avignon ในประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้งRestaurateurs Sans Frontières ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มทำงานบูรณะศิลปะในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 ร่วมกับการสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศสและมหาวิทยาลัยศิลปากร คุณโรแบร์ต เริ่มเล่าด้วยการย้อนความหลังในการเข้ามาประเทศไทยครั้งแรก โดยติดตามภรรยาผู้เป็นแพทย์วิสัญญีมาประเทศไทย และในระหว่างนั้นได้มีโอกาสบูรณะซ่อมแซมวัดไทยแห่งแรกที่โคราช จนได้ค้นพบทีมงานและช่างฝีมือที่มีคุณภาพของไทย อีกทั้งทรัพยากร บุคคลากรและมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม จึงริเริ่มตั้งหลักปักฐานทำงานในพื้นที่ประเทศไทยเป็นต้นมา คุณโรแบร์ต กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นที่ที่มีช่างฝีมือเก่งๆมากมาย และทั้งมีมหาวิทยาลัยดีๆที่ฝึกช่างฝีมือมากมาย รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่เราสามารถหาได้ง่ายและทั้งหมดนี้ในราคาที่คุ้มค่ามาก และเราไม่สามารถหาได้ในประเทศฝั่งยุโรป มันจึงเป็นความลงตัวที่จะร่วมกันพัฒนาทักษะและแนวคิดทางด้านการบูรณะงานศิลปะนี้ในประเทศไทย จนปัจจุบันได้ขยายต่อยอดรวมไปถึงการซ่อมแซมชิ้นงานศิลปะร่วมสมัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

หน้าที่หลักของ คุณโรแบร์ต คือวางแนวคิดและสอนเทคนิคความชำนาญการซ่อมบูรณะอย่างมีองค์ความรู้และเชื่อมโยงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่วัดผลได้และมีคุณภาพ โดยคำนึงแม้กระทั้งสภาพอากาศ ภูมิประเทศ ความร้อนชื้น ที่มีผลต่อการเลือกใช้วัสดุ หรือกรรมวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นฐานสีของชิ้นงานดั้งเดิม ล้วนถูกเอามาวางแผนและคำนวนในการบูรณะทุกครั้ง โดยมีห้องแลปเป็นของตัวเองที่สามารถตรวจวัดชิ้นงานเพื่อทราบผลทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุนั้นๆ เข้ามาประกอบการพิจารณาในการซ่อมแซม


เช่น การตรวจหาโครงสร้างค่าของธาตุวัตถุในชื้นงาน (Composite Structure) ใช้เทคนิคการถ่ายภาพและการยิงแสงยูวีและอินฟราเรดในห้องมืด เพื่อหาร่องรอยการซ่อมแซมหรือร่องรอยใต้พื้นผิวที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น การส่องขยายวัตถุขนาดเล็ก (Microscopy) นี่เป็นเพียงบางส่วนของกระบวนการวินิจฉัยชิ้นงาน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญทางสาขาวิทยาศาสตร์อย่าง คุณนวรัตน์ แก้วอ่อน ผู้ชำนาญการทางวิทยาศาสตร์ในการบูรณะศิลปะมาเป็นผู้เล่าถึงขั้นตอนและอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ว่าแต่ละอุปกรณ์มีการเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชิ้นงานอย่างไรและทาง RSF เองยังมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเพื่อส่งชิ้นงานเอกซเรย์ ( X-radiography) หรือ ซีทีแสกน (Tomography) เพื่อตรวจดูเนื้อใน แทนการผ่าวัตถุอีกด้วย ซึ่งขั้นตอนลักษณะนี้จะช่วยเก็บรักษาตัวชิ้นงานไม่ให้เสียหายแต่ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อ ไม่ต่างจากคุณหมอที่วินิจฉัยอาการป่วยของคนไข้เลยทีเดียว


ไม่เพียงเท่านี้ มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นจุดแวะเตรียมความสมบูรณ์ของชิ้นงานให้ศิลปินไทยก่อนออกสู่มิวเซียมระดับโลก อย่างล่าสุด นิทรรศการ Non-Forms ผลงานของศิลปิน จ่าง แซ่ตั้ง ก็ได้เข้ามาเตรียมความพร้อมก่อนไปแสดง ที่ Centre Pompidou ณ กรุงปารีส ที่ใกล้จะจัดแสดงขึ้นในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2566 – 8 เมษายน 2567 นี้ นอกจากนี้ยังมีการจับมือกันระหว่าง The Art Auction Center และ Restaurateurs Sans Frontières เพื่อดูแลความสมบูรณ์ของงานก่อนจะมีการนำเข้าประมูล ให้นักสะสมสบายใจได้ว่าผลงานทุกชิ้นจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และได้รับการดูแลโดยผู้ชำนาญก่อนถึงมือนักสะสมอย่างแน่นอน หรือ แม้มีปัญหาภายหลังก็สามารถนำเข้ามาตรวจได้ที่ RSF Art Clinic ได้อีกเช่นกัน


Restaurateurs Sans Frontières จึงถือได้ว่าเป็นที่รู้จักและไว้วางใจของนักสะสมศิลปะไปโดยปริยาย เหตุนี้จึงทำให้Restaurateurs Sans Frontières สามารถรวบรวมฐานข้อมูลทางวัตถุศิลปะที่สำคัญมากต่ออนาคต ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณ ไปจนถึงงานศิลปะร่วมสมัยที่กำลังมีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆในปัจจุบัน “เราไม่ควรผลักภาระไปให้แก่นักสะสม” คุณโรแบร์ต อยากให้คำนึงถึงปลายทางนักสะสมว่า ผลงานของศิลปินควรจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดก่อนถึงมือนักสะสม คุณโรแบร์ต เล็งเห็นความสำคัญในการส่งผ่านความรู้และชิ้นงานเหล่านี้ไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลานในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด เค้าเชื่อว่าการอนุรักษณ์เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังยังได้เห็นศิลปะที่มีอยู่ในยุคยุคหนึ่งและยังคงสภาพในมองเห็นและรับรู้ได้ในอีกหลายสิบปีต่อมา ถึงแม้ว่าในที่สุดเมื่อวันหนึ่งศิลปะเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นผลงานหรือสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไป.oอนาคต เหมือนภาพวาดโมนาลิซา (Mona Lisa) หรือ พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) แต่ความรู้และความงามในชิ้นงานนั้นก็จะยังคงคุณค่าให้ได้เห็นอยู่ดังเดิม



ช่างน่าภูมิใจว่าผลงานการบูรณะศิลปะระดับโลกและฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อการบูรณะศิลปะที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้จะตั้งอยู่ในประเทศไทยเรานี่เอง จากความชำนาญการของคุณโรแบร์ต และฝีมือประณีตของคนไทย จนเกิดเป็นจุดยุทธศาสตร์ของภาคพื้นเอเชียที่เมื่อต้องการการบูรณะ หามาตรฐาน หรือการค้นหาคำตอบกับชิ้นงานศิลปะในมือ ไล่ตั้งแต่ระดับการค้นคว้าในระดับมหาวิทยาลัย จนถึงภาพโด่งดังของศิลปินระดับโลก ก็มักต้องเดินทางมายังพื้นที่แห้งนี้ ที่เหมือนมีเวทมนต์แห่งการย้อนกาลเวลา กอบกู้และคงคุณค่า เพื่อการส่งผ่านไปสู่คนรุ่นอนาคตต่อไป

เขียนโดย FYI Bangkok

https://fyibangkok.com/restaurateurs-sans-frontieres/

15 views0 comments

Comments


bottom of page